วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ระบบเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจ   คือ หน่วยเศรษฐกิจและหน่วยธุรกิจรวมตัวกัน  เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ภายใต้รูปแบบของการปกครอง  จารีต  ประเพณี  สังคม วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยตัดสินปัญหาพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจทุกระบบให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล จะต้องกำหนดรูปแบบทางเศรษฐกิจ  ออกระเบียบข้อบังคับ  และมีวิธีการควบคุมการ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม  และเป็นผลดีต่อประเทศ  
        ระบบเศรษฐกิจ  แบ่งเป็น 4 ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม จะให้สิทธิแก่เอกชนในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่  ระบบสังคมนิยม  จะมีการวางแผนจากส่วนกลาง รัฐจะต้องเป็นผู้กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ระบบคอมมิวนิสต์ ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ ภาคเอกชนไม่มีสิทธิเป็นจ้าของปัจจัยการผลิด  และระบบผสม  ส่วนใหญ่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ ครัวเรือน ธุรกิจ และรัฐบาล 
          หน้าที่ของแต่ละบุคคลในระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจหน่วยหนึ่ง ๆประกอบด้วยบุคคลจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ต่างกัน คือ ผู้ผลิตหรือหน่วยธุรกิจ  ทำหน้าที่ในการผลิตสินค้าและบริการ  โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เจ้าของปัจจัยการผลิต  บุคคลที่มีสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย เช่น ทรัพย์สิน ทุน ที่ดิน แรงงาน มาให้ผู้ผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีรายได้มากที่สุด  ผู้บริโภค เป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้รับความพอใจในการแลกเปลี่ยนกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายไป
กิจกรรมชวนคิด
          ให้นักศึกษาค้นคว้าจาก Internet หารายชื่อประเทศต่าง ๆ ในโลกที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์  และที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ให้ได้มากที่สุดและนำมาติดบอร์ดหน้าห้องเรียน
แหล่งอ้างอิง
          ให้นักศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้จากคู่มือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น  ที่ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี และศูนย์การเรียนรู้ ปวช.  อาคารอำนวยการ ชั้น 3 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำพูน



อุปสงค์ อุปทาน และราคาดุลยภาพ


          
         อุปสงค์ คือ จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆหรือ ณ ระดับรายได้ต่าง ๆ หรือ ณ ระดับราคาสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยปกติจะให้ความสำคัญกับเรื่องระดับราคามากที่สุด และเมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไป จำนวนซื้อสินค้าและบริการชนิดนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามเสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลของราคาซึ่งประกอบด้วยผลของการทดแทนกัน และผลของรายได้
          เส้นอุปสงค์สามารถสร้างได้จากข้อมูลในตารางอุปสงค์ ซึ่งจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคา และปริมาณซื้อ โดยปกติเส้นอุปสงค์จะเป็นเส้นทอดลงจากซ้ายไปขวา เส้นอุปสงค์สามารถเปลี่ยนแปลงไปทั้งเส้น โดยอยู่ทางขวามือหรือทางซ้ายมือของเส้นเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปสงค์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้จำนวนซื้อมากขึ้นหรือน้อยลง
          อุปทาน  คือ  จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ขายต้องการขาย  ณ ระดับราคาต่าง ๆ ซึ่งจำนวนขายจะเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกันกับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเส้นอุปทานซึ่งเป็นเส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและจำนวนขาย จึงเป็นเส้นทอดขึ้นจากซ้ายไปขวา เส้นอุปทานสามารถเปลี่ยนแปลงไปทางซ้ายมือหรือขวามือของเส้นเดิมได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปทานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่จะทำให้จำนวนขายมากขึ้นหรือน้อยลง
          ราคาดุลยภาพ  เป็นราคาที่ทำให้จำนวนเสนอซื้อ (อุปสงค์) เท่ากับจำนวนเสนอขาย (อุปทาน) ราคาใด ๆ ที่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน และราคาใด ๆ ที่สูงกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ราคาดังกล่าว จะปรับเข้าสู่ราคาดุลยภาพและราคาจะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะมีการเคลื่อนย้ายเส้นอุปสงค์ และ/หรืออุปทาน ซึ่งอาจทำให้ราคาดุลยภาพใหม่ และ/หรือปริมาณดุลยภาพใหม่สูงขึ้นหรือลดลง
          โดยปกติรัฐบาลจะปล่อยให้กลไกราคาทำงานไปตามลำพัง โดยไม่เข้าไปควบคุมราคา ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นซึ่งกลไกราคาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน มาตรการที่ใช้รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงกลไกของราคาในตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมี 2 มาตรการ คือ การกำหนดราคาขั้นต่ำ (การประกันราคา) ซึ่งจะกระทำเพื่อยกระดับราคาของสินค้าที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ารายการที่สำคัญ เป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตหรือผู้ขาย อีกมาตรการก็คือ การกำหนดราคาขั้นสูง เป็นมาตรการที่ใช้กำหนดราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินเพดาน จะใช้ในระหว่างเกิดขาดแคลนสินค้า ซึ่งการขาดแคลนสินค้าทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้บริโภคเดือดร้อน
กิจกรรมชวนคิด
          1.ให้นักศึกษาสร้างตารางอุปสงค์ และตารางอุปทานของสินค้าใดสินค้าหนึ่ง (สมมติตัวเลขขึ้นเอง) และเขียนเส้นอุปสงค์และเส้นอุปทานจากตาราง
          2. ให้นักศึกษาเขียนกราฟแสดงภาวะดุลยภาพของตลาดไก่ในเชียงใหม่ก่อนและในระหว่างการเกิดการระบาดของไข้หวัดนก (ในแผ่นกราฟเดียวกัน)
แหล่งอ้างอิง
          ให้นักศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง อุปสงค์ อุปทาน และราคาดุลยภาพเพิ่มเติมได้จากคู่มือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น  ที่ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี และศูนย์การเรียนรู้ ปวช.  อาคารอำนวยการ ชั้น 3 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำพูน